บริษัท ไทยเทคโนกลาส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มุ่งเน้นพัฒนาสินค้าและบริการด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม ความต้องการของลูกค้า และมุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำของประเทศ ส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาขีดความสามารถในการเพิ่มมูลค่าสินค้า การรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมกระจกแปรรูป และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสำเร็จของงานออกแบบที่โดดเด่นและแปลกใหม่ให้เป็นจริงและได้ง่ายกว่าที่เคย
พัฒนาการที่สำคัญของ TTG ในช่วงที่ผ่านมา
พ.ศ. 2536 | – วันที่ 19 สิงหาคม 2536 บริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 บาท โดยกลุ่มครอบครัวเลียวกิจสิริ เพื่อประกอบธุรกิจผลิตกระจกแปรรูปสำหรับรถยนต์ |
พ.ศ. 2539 | – บริษัทได้ลงทุนเครื่องจักรสำหรับการผลิตกระจกนิรภัยเทมเปอร์ และกระจกนิรภัยลามิเนต เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์กระจกนิรภัยเทมเปอร์ และกระจกนิรภัยลามิเนต เพื่อการจำหน่าย |
พ.ศ. 2543 | – เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2 ล้านบาทเป็น 45 ล้านบาท โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม |
พ.ศ. 2546 | – เปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจจากกระจกรถยนต์เป็นกระจกอาคาร รวมไปถึง ลงทุนเครื่องจักรกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (กระจกแปรรูปพื้นฐาน) |
พ.ศ. 2547 | – นำเสนอกระจกแปรรูปพื้นฐาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจกลามิเนตลายผ้า (Fabric Glass) นำเสนอออกสู่ตลาด เป็นรายแรกๆ ของประเทศไทย ถือเป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกในการใช้กระจกเพื่อตกแต่งภายในอาคาร |
พ.ศ. 2549 | – ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมกับผู้ผลิตฟิล์มจากประเทศญี่ปุ่น – ขยายพื้นที่อาคารโรงงานไทยเทคโนกลาสเป็นขนาด 8 ไร่ 1 งาน 5.3 ตารางวา จากเดิมขนาด 4 ไร่ 3 งาน 1.6 ตารางวา – ขยายการลงทุนเครื่องจักรกระจกนิรภัยลามิเนต (กระจกแปรรูปพื้นฐาน) |
พ.ศ. 2550 | – เปิดตัวกระจกลามิเนตสี (Rainbow Glass) 3 คอลเลคชั่น (Collection) ครอบคลุมเฉดสีมากกว่า 100 เฉดสี ให้นักออกแบบตกแต่งภายในได้เลือกใช้ |
พ.ศ. 2551 | – บริษัทได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต (MDICP Standard) กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายธุรกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและเพิ่มพันธมิตร – บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 45 ล้านบาทเป็น 98 ล้านบาท โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม – ขยายการลงทุนเครื่องจักรกระจกนิรภัยเทมเปอร์ – ร่วมโครงการวิจัยกับสถาบันและมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรม |
พ.ศ. 2553 | – เปิดตัวกระจกพิมพ์ภาพสีดิจิทัล (Pixel Glass) เป็นรายแรกๆของประเทศไทย กระจกดังกล่าวจะช่วยทำให้ จินตนาการของนักออกแบบที่สร้างไว้ในรูปแบบดิจิตอลถูกแปลงออกมาเป็นสีสันและลวดลายบนกระจก – จัดตั้งฝ่ายนวัตกรรมของบริษัท เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา |
พ.ศ. 2554 | – ได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์ ประจำปี 2554 รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สาขางานออกแบบ ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) |
พ.ศ. 2555 | – ได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin โดยสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ และธนาคารไทยพาณิชย์ |
พ.ศ. 2557 | – ได้รับรางวัล Thailand Trust Mark (Thailand Trust Quality) โดยกระทรวงพาณิชย์ |
พ.ศ. 2558 | – จัดตั้งและเข้าถือหุ้นร้อยละ 99.99 ใน บริษัท เจเค เวิลด์เทรด จำกัด (JK World Trade) ซึ่งประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่อเนื่องกระจกของบริษัท – ได้รับรางวัล SMEs ดีเด่น โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) |
พ.ศ. 2559 | – จัดตั้งและเข้าถือหุ้นร้อยละ 99.99 ใน บริษัท กลาส เอ็กซ์เปิร์ท จำกัด (Glass Expert) เพื่อให้บริการติดตั้งกระจกของบริษัท – เปิดตัวผลิตภัณฑ์หินบัคบีท (Bugbeat) ซึ่งผลิตจากเศษกระจกจากการผลิตกระจกแปรรูป มีคุณสมบัติดูดซับน้ำหอม ช่วยกระจายกลิ่น ปรับอากาศให้หอมสดชื่น อีกทั้งมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สื่อถึงความเป็นไทย จึงเหมาะกับการเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทย – ผลิตภัณฑ์ หินบัคบีท (Bugbeat) ได้รับรางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์ DEmark จากประเทศไทย รางวัล Gmark จากประเทศญี่ปุ่น และ รางวัล DIA จากประเทศจีน – ได้รับรางวัลยกย่องสำหรับผู้เข้ารอบสุดท้ายในการประกวดธรรมาภิบาลแห่งปี 2559 โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ |
พ.ศ. 2560 | – วันที่ 6 ธันวาคม 2560 บริษัทปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเพื่อลดความซับซ้อนในการบริหารงาน จึงได้จดทะเบียนเลิกบริษัท เจเค เวิลด์เทรด จำกัด ที่ประกอบธุรกิจ จำหน่ายสินค้าต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์กระจก และ บริษัท กลาส เอ็กซ์เปิร์ท จำกัด ที่ประกอบธุรกิจให้บริการติดตั้งกระจกพิเศษ และปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจ ให้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทเพียงบริษัทเดียว – วันที่ 7 ธันวาคม 2560 ครอบครัวเลียวกิจสิริ จัดตั้งบริษัท อรุณโฮลดิ้ง จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อจัดโครงสร้างการถือหุ้น – เปิดตัวกระจกกันภัย (BRG Glass) เป็นกระจกกันภัยที่สามารถป้องกันภัยคุกคามได้ระดับตั้งแต่การบุกรุกด้วยอุปกรณ์ช่าง อาวุธทั่วไป จนกระทั่งอาวุธปืน – ได้รับรางวัล Prime Minister’s Export Award ประเภท Best Green Innovation โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ |
พ.ศ. 2561 | – ซื้อที่ดินพื้นที่ 11 ไร่ 60.6 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานปัจจุบันของบริษัทจากกรรมการบริษัทเพื่อการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน ด้วยราคาเทียบเคียงราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ – บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 98 ล้านบาท เป็น 158 ล้านบาท โดยให้สิทธิตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม ทั้งนี้ มีผู้ถือหุ้นบางรายไม่ได้ใช้สิทธิการเพิ่มทุน |
พ.ศ. 2562 | – เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น โดย บริษัท อรุณโฮลดิ้ง จำกัด ที่ก่อตั้งโดยครอบครัวเลียวกิจสิริ เข้าถือหุ้นบริษัทร้อยละ 53.74 – บริษัทได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ไทยเทคโนกลาส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากหุ้นละ 1,000 บาทเป็นหุ้นละ 0.50 บาท – บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 158 ล้านบาท เป็น 211 ล้านบาท หรือเท่ากับเพิ่มจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนจากจำนวน 316 ล้านหุ้น เป็น 422 ล้านหุ้น โดยการออกหุ้นใหม่เป็นหุ้นสามัญจำนวน 106 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) |